กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศ (สบป.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จัดพิธีลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสำหรับโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยมีนายวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจกับ H.E. Mr. Lyu Jian เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และ ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) ในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสำหรับโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กับสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยกำหนดให้การลงนามในบันทึกความเข้าใจข้างต้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินโครงการ “กลไกความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ” ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ประจำปี 2560 และการดำเนินกิจกรรมโครงการด้านทรัพยากรน้ำ
กลไกความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ถือเป็นโครงการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำโครงการแรกที่ดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิก MLC 6 ประเทศ ที่ประกอบด้วย จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ภายใต้งบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สืบเนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง มีความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อความแปรปรวนของการเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อนหลายโครงการเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ในพื้นที่ของประเทศจีนถึง สปป.ลาว ซึ่งแม้ว่าจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาค หากแต่การบริหารจัดการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อน ย่อมมีผลถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง-ล้านช้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงปัจจัยด้านการขึ้นลงของน้ำอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นประเด็นข้ามพรมแดนที่จำเป็นต้องมีการมีการพัฒนากลไกความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อน (หากจำเป็น) ระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง-ล้านช้าง
ที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศจีนกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม) มาเป็นลำดับ โดยประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำได้นำส่งข้อมูลอุทกวิทยาและข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง ตามเงื่อนไขและในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของประเทศสมาชิก และการปรับตัวของประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของระดับและปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงส่งผลต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจสังคม ในพื้นที่ จึงจำเป็นในการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก การหารือและสื่อสารความเข้าใจร่วมกัน ในการสำรวจหาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนากลไกความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ต่อไป
[Not a valid template]