การเดินเรือ

ทางเลือกเยอะ! คนค้านจีนขุด-บึ้มแก่งน้ำโขงไทย-ลาว จี้เปิดร่องน้ำเหนือสามเหลี่ยมทองคำก่อน (2 มกราคม 2562)

ที่มา   https://mgronline.com/local/detail/9620000000246

บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนของบริษัท cccc Second Harbor Consultants จำกัด เอกชนจีนผู้รับสัมปทานปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้นัดหมายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้ (3 ม.ค.) ถึง 5 ม.ค. 62
หลังจากได้ดำเนินการศึกษาแนวทางพัฒนาร่องน้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ติดกับ 3 อำเภอดังกล่าว ระยะทางประมาณ 96 กม. ที่ดำเนินการเมื่อกลางปี 60 ที่ผ่านมา และเมื่อนำผลมาจำลองทางคณิตศาสตร์และกายภาพแล้ว สามารถสรุปแนวทางการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน เรือขนตู้สินค้าขนาด 30 ทีอียู เรือขนส่งน้ำมันขนาด 500 ตัน และเรือโดยสารขนาด 150 ที่นั่ง สัญจรผ่านได้

โดยใช้แนวทางด้านวิศวกรรม เช่น เสริมความมั่นคงบริเวณพื้นท้องน้ำ, ขุดลอก, ระเบิดหินใต้น้ำ, ป้องกันตลิ่ง, ย้ายสิ่งกีดขวางในร่องน้ำ, การติดป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ, สร้างที่จอดเรือทอดสมอเพิ่มเติม ฯลฯ รวม 13 จุดเขต ต.เวียง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ต.ริมโขง ต.เวียง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ต.หล่ายงาว ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น

ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า นักธุรกิจชายแดนแถวหน้าลุ่มน้ำโขง, รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงแสน-อ.เชียงของ เพื่อล่องลงไปถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว ได้ ซึ่งก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่าเส้นทางนี้จะใช้ขนส่งสินค้าใดได้บ้าง เพราะปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ขนผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสนทั้งหมด เนื่องจากสะดวกกว่าและสามารถเชื่อมโยงทางบกในไทยได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องล่องไปทาง อ.เชียงของ-เวียงแก่น

ส่วนเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงตั้งแต่เมืองกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีน-ไทยมีเกาะแก่งต่างๆ จำนวนมาก เช่น ช่องแคบผางซางใกล้ชายแดนจีน-สปป.ลาว-พม่า ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมมรกต แม่น้ำที่กว้างเพียงแค่ 12 เมตร ลึกกว่า 20 เมตร มีโขดหินกลางน้ำ-กระแสน้ำก็ไหลเชี่ยว และจุดอื่นๆ ก็มีโขดหินมากมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีจุดตื้นเขินที่สุดบริเวณมองป่าแหลว ชายแดนพม่า-สปป.ลาว ที่เรือมักเกยหาดทรายในฤดูแล้งเป็นประจำ

ดังนั้นตนจึงเห็นว่าควรปรับปรุงแม่น้ำโขงตอนบนก่อน เริ่มตั้งแต่เมืองกวนเหล่ยจนถึงท่าเรือสุดท้ายที่ท่าเรือบ้านโป่ง ประเทศพม่า และท่าเรือบ้านมอม สปป.ลาว เหนือ อ.เชียงแสน หรือเหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป ส่วนร่องน้ำโขงเขตไทย แค่ขุดลอกหาดทรายบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนไทย-พม่า-สปป.ลาว ก็พอ

“ควรให้เขื่อนไชยะบุรีเปิดใช้ก่อนเพื่อดูว่าระดับน้ำโขงเหนือเขื่อนสูงขนาดไหน และเขื่อนปากแบ่งที่จะเริ่มสร้างหากใช้งานแล้วจะเป็นอย่างไร จึงพิจารณาดำเนินการร่องน้ำโขงในเขตไทยและลาว”

ส่วนการขนส่งสินค้าจากจีน-สปป.ลาวสามารถใช้เส้นทางอื่นได้ ทั้งทางรถไฟจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ที่กำลังก่อสร้าง รวมทั้งมีการสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่จากเมืองปากคอบ-ก้อนตื้น มายังหาดแก้ว แขวงบ่อแก้ว เชื่อม อ.ภูซาง จ.พะเยา เข้าไปใน สปป.ลาว คาดว่าอีก 2 ปีก็แล้วเสร็จ ซึ่งการขนส่งเส้นทางนี้ไม่ต้องผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ด้วย นอกจากนี้ยังมีสะพานแม่น้ำโขงเชื่อมแขวงอุดมไชย-แขวงไชยะบุรี ที่เมืองปากแบ่ง-ห้วยแคน ซึ่งมีถนนเชื่อมไปยังเมืองเงินที่มีด่านการค้าเชื่อมโยงกับด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ของไทยได้

“เส้นทางเหล่านี้ทำให้การเชื่อมโยงแขวงบ่อแก้ว-นครเวียงจันทน์ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องใช้เส้นทางแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาวอีก และเป็นทางเลือกสำหรับการขนส่งสินค้าไทย-จีนด้วย”

น.ส.ผกายมาศย้ำด้วยว่า การพัฒนาแม่น้ำโขงควรใช้คณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงฯ หรือ The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang–Mekong River among China, Laos Myanmar and Thailand (JCCCN) ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานระหว่าง 4 ชาติลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย สปป.ลาว พม่า และจีนตอนใต้ เพื่อพัฒนาด้านอื่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยว การค้าชายแดน การขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะให้สิทธิพิเศษกับประเทศที่ไม่มีชายแดนติดจีนแต่ใช้แม่น้ำสายเดียวกันในการเชื่อมถึงกัน ฯลฯ ควบคู่กันไปด้วย

สำหรับโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ เกิดขึ้นตามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ ไทย จีน สปป.ลาว และพม่า เมื่อปี 2543 เพื่อพัฒนาการเดินเรือระหว่างเมืองท่า 14 แห่งของประเทศสมาชิกตั้งแต่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านประเทศพม่า สปป.ลาว ไทย ไปจนถึงแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 890 กิโลเมตร โดยมี JCCCN เป็นหน่วยงานประสานงาน

ต่อมาจีนเปิดให้สัมปทานบริษัท cccc Second Harbor Consultants จำกัด ทำการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน พม่า และ สปป.ลาว เพื่อให้เรือเดินสินค้าสามารถแล่นไปมาได้สะดวกตลอดทั้งปี แต่ยังดำเนินการในเขตไทยไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายของไทย ตลอดจนกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนไทยที่เกรงว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

[Not a valid template]


icon_new_2แผนแม่บทการขนส่งทางน้ำ บนแม่น้ำโขง ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เล่มที่ ๑ (ภาษาอังกฤษ)

MasterPlan_NAP_Vol1


 

icon_new_2แผนแม่บทการขนส่งทางน้ำ บนแม่น้ำโขง ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เล่มที่ ๒ (ภาษาอังกฤษ)

MasterPlan_NAP_Vol2

 



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย