การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๓
วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑
ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑ ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกกรรมาธิการแม่น้ำโขง อีก ๓ ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมด้วยผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) และหุ้นส่วนการพัฒนา โดยก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๓ จะเริ่มขึ้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบและหารือทวิภาคีกับ ฯพณฯ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา สาระสำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การเปิดจุดผ่านแดนระหว่างทั้งสองประเทศ และเส้นทางรถไฟ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๓ โดย นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งในที่ประชุม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง โดยชื่นชมต่อความสำเร็จและความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของประเทศสมาชิก พร้อมทั้งเสนอแนวคิดการพัฒนาความร่วมมือของคณะกรรมาธิการฯ รวม ๓ ด้าน คือ (๑) นโยบายด้านความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขง ไทยเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือ โดยเฉพาะการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการน้ำ มาสู่การกำหนดนโยบายของประเทศ (๒) การดำเนินความพยายามในการผลักดันให้แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งความมั่นคั่งและยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน และการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (๓) การพัฒนาบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พึงมุ่งเน้นการนำผลการศึกษาและองค์ความรู้ แปลงสู่แผนการดำเนินงานได้ที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีประเทศสมาชิก ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาเสียมราฐ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๓๘ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อไป สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๔ ในอีก ๔ ปีข้างหน้าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
สำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ๕ เมษายน ๒๕๖๑
[Not a valid template]