การประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 48

สทนช. ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน


สทนช. นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วม การประชุมคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 48  ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน และอาหาร ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สทนช. ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (รศ.ชัยยุทธ สุขศรี) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 24 – 25 เมษายน 2562 ณ เมือง Vung Tau สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มาในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนถาวรไทยในคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการประชุมสมัยสามัญประจำปี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อหารือและกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง การบริหารองค์กรของคณะกรรมาธิการและการพัฒนาความร่วมมือกับกรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้พันธกรณีตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ทั้งนี้ สทนช. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ

โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผลการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย การกำหนดกรอบการประเมิน (Indicative Framework) เพื่อใช้ในการติดตามและพัฒนาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะการบริหารจัดการลุ่มน้ำและเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน และอาหาร การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) สำหรับติดตามและตอบสนองประเด็นข้ามพรมแดนจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ อาทิ โครงการเขื่อนปากแบง และโครงการเขื่อนปากลาย ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) การอนุมัติเอกสารคู่มือการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครอบคลุมการบริหารองค์กร ทรัพยากรบุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการกำหนดแนวทางการพัฒนาองค์กร ในด้านการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการฯ การถ่ายโอนภารกิจหลักด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำสู่ประเทศสมาชิก และระบบบริหารงานของคณะกรรมาธิการฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ติดตามและเสนอแนะในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำ การขยายความร่วมมือกับประเทศและกรอบความร่วมมือต่างๆ เอกสารแนวทางเบื้องต้นสำหรับการออกแบบโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ การพัฒนาเครือข่ายติดตามอุทกวิทยาในลุ่มน้ำโขง การจัดทำแผนกลุยทธ์ด้านการจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอุทกวิทยา รวมถึงประเด็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง

ผลจากการประชุมครั้งนี้ นำมาซึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูล สำหรับการพยากรณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจัดตั้งสถานีตรวจวัดระดับน้ำ/ปริมาณน้ำ เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ณ จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นสถานีตรวจวัดระดับน้ำ/ปริมาณน้ำ แห่งใหม่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูล ร่วมติดตามสถานการณ์ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และได้หารือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงจากประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินในใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดค่าดัชนีในการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์ประเมินผล เพื่อกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สำหรับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก คือ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม โดยมีประเทศจีนและเมียนมา เป็นประเทศคู่เจรจา ในการดำเนินงานระดับนโยบายของคณะกรรมาธิการฯ จะมีการประชุมคณะมนตรี ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีสมัยสามัญประจำปี เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายการบริหารองค์การ และติดตามการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศในการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้น ยังมีการประชุมระดับคณะกรรมการร่วม ที่ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับอธิบดีกรมจากประเทศสมาชิกละหนึ่งท่าน เพื่อร่วมปฏิบัติตามนโยบาย และข้อตกลงของคณะมนตรี รวมทั้งดูแลกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง อีกด้วย

[Not a valid template]

 



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย