SVP Meeting

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศในการวางแผนสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อความเข้าใจผลการศึกษา การบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง รวมถึงการศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (Council Study) โดยมีผู้แทนคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทย ผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกกลุ่มเชี่ยวชาญในการวางแผนลุ่มน้ำ ผู้ประสานงานส่วนวางแผน ส่วนติดตามผลกระทบข้ามพรมแดน ส่วนวิชาการ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจผลการศึกษาผ่านการวิเคราะห์แลกเปลี่ยน (trade-offs) ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรึกษาหารือพื้นที่ห่วงกังวล และนำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงในแผนกลยุทธ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปี ค.ศ. 2021 -2030 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไป ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์

สำหรับการศึกษา การบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง รวมถึงการศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (Council Study) เกิดขึ้นจากกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรี ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ยังมีข้อกังวลจากภาคประชาชนต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และการศึกษายังไม่ครอบคลุม โดยเรื่องดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในระดับผู้นำประเทศ ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของ ASEAN Summit หรือจากการประชุมสุดยอดแม่โขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ณ เมืองบาหลี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้ง 4 ประเทศสมาชิก คือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีมติให้มีการศึกษาการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยมีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานใน 2 ระยะ คือระยะที่ 1 (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2559) ช่วงเตรียมการต่อเนื่องระยะที่ 2 จากเมษายน 2557-ตุลาคม 2559 และเริ่มต้นในระยะที่ 2 (พฤศจิกายน 2559-ธันวาคม 2560) รวมระยะเวลาศึกษาทั้งหมดประมาณ 5 ปี เน้นศึกษาใน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การชลประทาน การเกษตรกรรมและการใช้ที่ดิน การใช้น้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม การป้องกันน้ำท่วม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ทั้งนี้ การศึกษาได้ใช้ชุดแบบจำลองเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อพิจารณาตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากการพัฒนาทรัพยากรน้ำในสถานการณ์จำลองต่างๆ (Scenarios) และผลการศึกษาจากแบบจำลองจะถูกผนวกรวมเป็นกรอบการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายผลของดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้ในการประเมินผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ รายงานผลการศึกษาฉบับสุดท้าย (Final Report) ได้จัดส่งให้ประเทศสมาชิกแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยประเทศสมาชิกจะสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้สำหรับใช้ในการอธิบายให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจนำไปใช้ในการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและตรวจสอบผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ต่อไป

 

[Not a valid template]

 

[Not a valid template]

 



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย