SIMVA Meeting_19Nov19

การประชุมระดับประเทศ เรื่อง ผลการสำรวจกิจกรรมการตรวจสอบผลกระทบทางสังคมและการประเมินความอ่อนไหวของระบบนิเวศทางน้ำ


เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 62 นายสมเกียรติ อภิพัฒนวิศว์ ผู้อำนวยการกองต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับประเทศ เรื่อง ผลการสำรวจกิจกรรมการตรวจสอบผลกระทบทางสังคมและการประเมินความอ่อนไหวของระบบนิเวศทางน้ำ (The Social Impact Monitoring and Vulnerability Assessment: SIMVA) โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และ สทนช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ สํานักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย อ.ดร. ศิริสุดา จำนงทรง ที่ปรึกษาระดับประเทศ SIMVA 2018 ร่วมบรรยายข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซต์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

อนึ่ง SIMVA เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ MRC เพื่อจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มตัวชี้วัด เกี่ยวกับการติดตามสภาพแวดล้อมของลุ่มน้ำโขงตอนล่างข้ามพรมแดนใน 7 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านความอ่อนไหว ด้านการพึ่งพาปลา ด้านการพึ่งพาสัตว์น้ำอื่น ๆ ด้านการพึ่งพาชลประทานและเกษตรริมฝั่ง ด้านความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม ด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และแนวโน้มของปัจจัยต่าง ๆ และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สัมพันธ์กับความอ่อนไหวทางสังคม ทั้งนี้ ได้เริ่มต้นการดำเนินงานครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2547 และปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะที่ 5 โดยกิจกรรม SIMVA 2018 (พ.ศ.2561-ปัจจุบัน) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมของลุ่มน้ำโขงตอนล่างข้ามพรมแดน โดยมีการสำรวจข้อมูลครอบคลุมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งในระดับหมู่บ้านและครัวเรือน มีพื้นที่การศึกษาใน 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ในบริเวณระยะห่างไม่เกิน 15 กม. ตลอดสองฟากฝั่งลำน้ำโขงและในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะช่วยในการปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมของ MRC ให้เท่าทันต่อปัจจุบัน และสามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ร่วมกับผลรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำโขงตอนล่างข้ามพรมแดน (Report on the State of the Basin: SOB) เพื่อใช้ประโยชน์ในการถ่ายโอนการดำเนินกิจกรรมของ MRC สู่ประเทศสมาชิกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาที่สำคัญของ SIMVA 2018 และรับฟังการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อนำไปปรับใช้เป็นแนวทางวางแผนการดำเนินงานในปีหน้า พร้อมทั้ง สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จะนำข้อมูลภาคสนามที่ได้จากทั้ง 4 ประเทศสมาชิก ไปวิเคราะห์ข้อมูลในระดับภูมิภาคต่อไป

 

[Not a valid template]

 

[Not a valid template]



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย