เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และ Dr.Hatda An Pich หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) เป็นประธานร่วมในการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำโขง ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการในลุ่มน้ำโขง“ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2562 โดยมีผู้แทนจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้แทนจากประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partner) องค์การระหว่างประเทศด้านการบริหารจัดการน้ำ (NGOs) ผู้แทนคณะทำงานโครงการฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 200 คน ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณการของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการพัฒนาโครงการในด้านต่างๆ ของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้อย่างยั่งยืน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอภาพรวมความสำเร็จของโครงการครั้งสุดท้าย ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้โครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการในลุ่มน้ำโขง (Mekong Intergrated Water Resources Management: M-IWRMP) ซึ่งมีโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนสิ้นสุดโครงการเมื่อต้นปี พ.ศ.2562 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรไทย (ลุ่มน้ำเซบังเหียงและลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร)
2.โครงการบริหารจัดการการประมงในลุ่มน้ำแม่โขงและแม่น้ำเซกอง (Sekong) (กัมพูชา-สปป.ลาว)
3.โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มแม่น้ำเซซาน (Sesan) และแม่น้ำเซรย์ปก (Srepok) (กัมพูชา-เวียดนาม)
4.โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (กัมพูชา-เวียดนาม)
5.โครงการประสานความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย (ทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา-โตนเลสาบ)
ทั้งนี้ ภายหลังจากการนำเสนอข้อมูลโครงการแล้ว การประชุมยังได้แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 2 กลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการบริหารจัดการในพื้นที่ชุ่มน้ำและทะเลสาบ และการบริหารจัดการด้านการประมง โดยจะนำข้อเสนอแนะจากการประชุมไปสู่การพัฒนานโยบายและแนวทางการสานต่อความร่วมมือด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทั้ง 4 ประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป
[Not a valid template]
[Not a valid template]