ถกร่วมมือด้านเทคนิคกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างแก้วิกฤติน้ำโขงผันผวน
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 เลขาฯ สทนช.เจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ถกประเทศสมาชิก ร่วมแก้วิกฤติน้ำโขงผันผวนจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำโขงที่มีความผันผวนมากในปีนี้ และเกิดสถานการณ์น้ำแล้งในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ปริมาณฝนตกในแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาลดลงกว่าในอดีต ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าที่คาดและน้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมากซึ่งเป็นไปทุกประเทศ 2.ประเทศจีนระบายน้ำออกจากเขื่อนจิ่งหงน้อยลงขณะเดียวกัน ประเทศจีนก็ประสบปัญหาน้ำในเขื่อนน้อยเนื่องจากฝนตกน้อยอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นเหตุให้มีการระเหยของน้ำมากขึ้น และ 3.ผลกระทบจากการทดลองเขื่อนไชยบุรี ของ สปป.ลาว ซึ่งทั้งจีนและสปป.ลาว ถือเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบกับประเทศท้ายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สทนช.ในฐานะคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ (ฝ่ายไทย) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จึงกำหนดจัดให้มีการประชุมหารือคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำฯ ร่วมกับประเทศสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์หลักใน 3 ประเด็น คือ 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาคและการพยากรณ์ฝน และอุทกวิทยา 2.การหารือกรอบแนวทางการตอบสนองข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งของประเทศสมาชิก อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำ การปล่อยน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนและลาว ปริมาณน้ำฝน และการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการความร่วมมือระหว่างประเทศ 3.หารือแนวคิดเบื้องต้นของความร่วมมือด้านการจัดการวิกฤตน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
“จากเหตุการณ์ปริมาณน้ำระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว สทนช. จึงได้เร่งดำเนินการเชิญผู้แทนระดับสูงจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง – ล้านช้าง มาหารือร่วมกันพิจารณาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการกำหนดรูปแบบในการที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เสนอเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นทางด้านประเทศเหนือน้ำหรือท้ายน้ำให้มีความร่วมมือ รวมถึงช่องทางในการที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่หลัก เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิก 5 ประเทศที่ร่วมประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ไทย จีน เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งน่าเสียดายที่ สปป.ลาว ไม่ได้มาร่วมอันเนื่องมาจากระยะเวลากระชั้นชิด แต่ผู้แทนจากทุกประเทศที่เข้ามาร่วมประชุมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตซึ่งจะผ่านกลไกลหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะใช้ในรูปแบบการส่งผ่านข้อมูลด้วยระบบไอทีและเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงจะมีการนำประเด็นความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ยกระดับสู่การประชุมในระดับรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในการกำหนดโครงการหรือวางแผนพัฒนาโครงการสาขาทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับประเทศไทย รวมถึงประเทศสมาชิกในการที่จะทราบข้อมูลข่าวสารในการวางแผน ที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรวดเร็วขึ้น สามารถเตรียมการป้องกันและลดผลกะทบได้ล่วงหน้า ซึ่งประเทศจีนที่พร้อมที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น อัตราการไหลของน้ำหรือปริมาณการระบายน้ำ แต่อาจจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งไทยเองก็ต้องการให้แต่ละประเทศแบ่งปันข้อมูลปริมาณฝนระหว่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ซึ่งทางจีนก็รับลูกตรงนี้ไป เพื่อที่จะกำหนดเป็นแผนงานโครงการในระยะสั้น และบรรจุลงในแผนปฏิบัติการสาขาทรัพยากรน้ำ 5 ปี พ.ศ. 2561 – 2565 (ฉบับปรับปรุง) ต่อไป” นายสมเกียรติ กล่าว
ขณะเดียวกัน นอกจากการหารือร่วมกันในการประชุมแล้ว สทนช.ยังได้เชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกลงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตอาชีพของประชาชนริมฝั่งโขง ทั้งการอุปโภค-บริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศทั้งด้านเกษตร การประมง การท่องเที่ยว พลังงาน คมนาคมฯลฯ ดังนั้น การหารือคณะทำงานร่วมทรัพยากรน้ำโดย สทนช. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เป็นระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกและประชาชนในลุ่มน้ำโขงซึ่งทุกประเทศเล็งเห็นความสำคัญที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลให้รวดเร็ว และเพิ่มขึ้น พร้อมกับศึกษาร่วมกันในสาเหตุที่แท้จริง และร่วมกันป้องกันภัยต่อไป
การประชุมช่วงเช้า
[Not a valid template]
การลงพื้นที่ช่วงบ่าย
[Not a valid template]
[Not a valid template]
[Not a valid template]