26TH MEETING OF THE MRC COUNCIL

การประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26


เวทีรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขงไฟเขียวยุทธศาสตร์ 5 ปี จัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาค ไทยประกาศความพร้อมนั่งแทนประธานคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศปีหน้า ชิงบทบาทนำการเชื่อมโยง-แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงบรรเทาผลกระทบแล้งในภูมิภาค

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสได้รับมอบหมายจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 ซึ่งเป็นการประชุมสามัญประจำปีระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่า ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม รวมถึงประเทศที่ให้การสนับสนุนแผนงานโครงการในลุ่มน้ำโขง อาทิ เยอรมัน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้เห็นพ้องร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญและทุกฝ่ายให้ความสำคัญเพื่อเร่งผลักดัน คือ แผนการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาคระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2568) ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปในโครงการศึกษา โดยเฉพาะสาเหตุของวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคนี้ โดยสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์การจัดการภัยแล้งจะครอบคลุมใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.ดัชนีภัยแล้ง 2.การพยากรณ์ภัยแล้งและการเตือนภัยล่วงหน้า 3.การสร้างขีดความสามารถของบุคลากร 4.มาตรการบรรเทาผลกระทบ และ 5.การแบ่งปันและการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทย โดย สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะถือโอกาสนี้เร่งผลักดันและขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ และการวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาร่วมกันภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศโดยเร็ว

 

[Not a valid template]



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย