ไทยขยายความร่วมมือจีนเชื่อมข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง พร้อมใช้บริหารจัดการน้ำทันฤดูฝนปี 2562

ไทยรุดขยายความร่วมมือจีนเชื่อมข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง พร้อมใช้บริหารจัดการน้ำทันฤดูฝนปี 2562 นี้

สทนช. เป็นตัวแทนประเทศไทยประชุมคณะทำงานร่วมสมัยวิสามัญสาขาทรัพยากรน้ำครั้งที่ 1 ประจำปี 2562ร่วมกับประเทศจีนและอีก 4 ประเทศสมาชิกท้ายน้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง พร้อมเชื่อมข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน 2 สถานีหลักในจีนใช้บริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2562 นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมสมัยวิสามัญ สาขาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) ระหว่างวันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2562 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมครั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยา กรณีฤดูน้ำหลากสำหรับแม่น้ำโขง – ล้านช้าง ของคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศจีนและประเทศท้ายน้ำ ได้แก่ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยฝ่ายจีนจะให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณฝนในช่วงฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 ตุลาคมของทุกปี จัดส่งข้อมูลรายชั่วโมง 2 ครั้งต่อวัน ในเวลา 09.00 น. และ 21.00 น. จากสถานีอุทกวิทยา 2 แห่ง คือ สถานีสถานีจิ่งหง (Yunjinghong) ในแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนจิ่งหง และสถานีหม่านอัน (Man’an) ในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้กับศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย สำหรับประเทศสมาชิกที่เหลืออยู่ระหว่างการมอบหมายหน่วยงานภายใน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีผลครอบคลุมเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป และสามารถรับข้อมูลได้ทันทีในช่วงฤดูฝน ปี 2562 นี้ อีกทั้งยังสามารถขยายระยะเวลาการใช้บังคับไปได้อีก 5 ปี หากประเทศสมาชิกมีความเห็นชอบร่วมกันก่อนที่บันทึกความเข้าใจฯ เดิมจะหมดอายุลง และยังสามารถปรับปรุงหรือแก้ไขเนื้อหาได้หากมีความเห็นชอบร่วมกัน

“ประโยชน์ที่ฝ่ายไทยจะได้รับ นอกจากจะได้รับข้อมูลอุทกวิทยา ซึ่งใช้ในการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำโขงของไทย ความร่วมมือครั้งนี้ยังจะทำให้ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น ความสัมพันธ์ของระดับและปริมาณน้ำ (Rating Curve) สภาพหน้าตัดลำน้ำ (Cross Section) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งทางน้ำ การเกษตรริมฝั่ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยวและนันทนาการอีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ทั้งนี้ จากความร่วมมือในครั้งนี้ สทนช. จะได้นำข้อมูลอุทกวิทยาและข้อมูลที่ได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ และระบบข้อมูลน้ำของประเทศให้ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของลุ่มน้ำระหว่างประเทศกับข้อมูลภายในประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในสาขาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และผลักดันให้ประเทศจีนเล็งเห็นความจำเป็นในการขยายความร่วมมือเพิ่มเติม จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะฤดูฝน เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาที่ครอบคลุมทั้งปี อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศสมาชิกท้ายน้ำต่อไป

อนึ่ง กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เพื่อเป็นเวทีที่ส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านของประเทศสมาชิก คือ ไทย กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยมีการกำหนดเสาหลักความร่วมมือที่สำคัญ จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของประชาชน รวมทั้งสาขาความร่วมมือที่สำคัญลำดับต้นของกรอบความร่วมมือ 5 สาขา คือ สาขาความเชื่อมโยง สาขาความร่วมมืออุตสาหกรรม สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน สาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สาขาการเกษตรและการลดความยากจน

หลังจากนั้น ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (The 2nd Mekong – Lancang Cooperation Leaders’ Meeting) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ผู้นำประเทศสมาชิกได้รับรองแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของ MLC ภายใต้กรอบความร่วมมือ 5 สาขาข้างต้น สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีสาระสำคัญ คือ การจัดทำแผนงานที่มีความครอบคลุมในทุกระดับ การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง – ล้านช้าง การส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลสารสนเทศ การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินในกรณีเกิดอุทกภัยและภัยพิบัติ และจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม 5 ปี และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ (Joint Working Group on Water Resources : JWG) เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงาน โดยมีบทบาทหน้าที่คือ การวางแผนการดำเนินความร่วมมือ และกำหนดแนวทางความร่วมมือ สำหรับประเทศไทย มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่หน่วยงานกลางในการประสานงานของคณะทำงานร่วมฯ โดยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย และเป็นตัวแทนประเทศไทยการประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 นี้

 

[Not a valid template]



© 2016 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย