เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee Secretariat :TNMCS) จัดการประชุมเรื่องการพัฒนายุทธศาสตร์ MRC ในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับลุ่มน้ำ (The Development of the MRC Strategy for Basin-Wide Environmental Management of Prioritized Environmental Assets with Regional Importance) ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมปรึกษาหารือระดับประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหารือจำนวน 30 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร สทนช. ผู้แทนจาก สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS ) และคณะที่ปรึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง กรมทรัพยากรธรณี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่จาก TNMCS
ด้วย “ลุ่มน้ำโขง” เป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นแตกต่างกันถึง 12 ลักษณะ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทะเล เช่น หนองบึงจากปล่องภูเขาไฟ แหล่งแม่น้ำใต้ดิน ป่าพุ ทั้งนี้ความหลากหลายทางชีวภาพจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นตัวช่วยในระบบนิเวศบริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้ จำนวนกว่า 60 ล้านคน ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2535 ในหัวข้อที่ 3 ว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความสมดุลทางนิเวศวิทยา ว่าจะดำเนินการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติชีวิตและสภาวะของพืชและสัตว์น้ำ และความสมดุลทางนิเวศวิทยาจึงทำให้เกิดกิจกรรมหลักในเรื่องการพัฒนายุทธศาสตร์ MRC ในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมตามแผน 5 ปี ของ MRC
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนบัญชีทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคของ MCR (MRC Strategy for Basin-Wide Environmental Management of Prioritized Environmental Assents) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ MRC พ.ศ.2557-2563 (MRC Strategic Plan) โดยการประชุมหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รายงานภาพรวมเกณฑ์คัดเลือกทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในด้านวิธีการ กระบวนการ พร้อมแสดงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในแต่ละประเทศสมาชิกและระดับภูมิภาค เพื่อขอข้อคิดเห็นเกณฑ์คัดเลือกทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เพื่อคัดเลือกทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของไทยจาก 10 พื้นที่ ให้เหลือพื้นที่ๆ สำคัญ 2–3 พื้นที่ และเพื่อกำหนดให้เป็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในระดับภูมิภาค รวมทั้งขอข้อคิดเห็นและข้อตกลงแผนการดำเนินการในลำดับต่อไป
(ภาพ ข่าว จาก สทนช)
[Not a valid template]